ศูนย์การจัดการความรู้ นำผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากรและนักศึกษา มทร.พระนครเข้าร่วมโครงการประชุมสัมมนาเครือข่ายการจัดการความรู้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล สถาบันการพลศึกษาและสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (RMUT KM + 2) ครั้งที่ 12 ภายใต้หัวข้อ “การจัดการความรู้สู่มหาวิทยาลัยนวัตกรรม” ระหว่างวันที่ 26 – 28 กุมภาพันธ์ 2562 จัดโดย มทร.ธัญบุรี ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต จ.ปทุมธานี โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดงานเพื่อส่งเสริมการพัฒนาความรู้ของอาจารย์และบุคลากรสายสนับสนุนระหว่างเครือข่ายฯ ตลอดจนผู้สนใจ โดยการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีและปัจจัยความสำเร็จเพื่อใช้ในการพัฒนาสถาบันการศึกษาอย่างยั่งยืน ภายในงานมีกิจกรรมการบรรยายพิเศษ การประกวดบทความภาคโปสเตอร์และภาคบรรยาย และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดี “ชุมชนนักปฏิบัติ”
ในการประกวดบทความภาคโปสเตอร์และภาคบรรยาย มทร.พระนคร ได้รับรางวัลดังนี้
1. อาจารย์นฤศร มังกรศิลา คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ นำเสนอเรื่องการสร้างความร่วมมือด้านการจัดการความรู้สู่มหาวิทยาลัยนวัตกรรม
ได้รับรางวัลชมเชย ประเภทภาคบรรยาย
2. นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ นำเสนอเรื่องโครงการถ่ายทอดความรู้ด้านการออกแบบเชิงบูรณาการสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนด้วยเทคโนโลยีทางการออกแบบ
ได้รับรางวัลชมเชย ประเภทภาคบรรยาย และรางวัลชนะเลิศ ประเภทภาคโปสเตอร์
ทั้งนี้มีการจัดกิจกรรมเสวนากลุ่มย่อยเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แนวปฏิบัติที่ดี “ชุมชนนักปฏิบัติ” (CoP) จำนวน 7 CoP ประกอบด้วย
1. CoP 1 การเรียนการสอนเพื่อพัฒนาบัณฑิต : การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อพัฒนาบัณฑิตนักนวัตกรรม โดยมี ผศ.สุขุมาล หวังวณิชพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน เป็นตัวแทนนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีของ มทร.พระนคร
2. CoP 2 งานวิจัยและงานสร้างสรรค์ : การสร้างงานวิจัยเชิงนวัตกรรมเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศ ซึ่ง มทร.พระนคร รับผิดชอบดูแลใน CoP นี้ โดยมี ดร.ประกอบ ชาติภุกต์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มทร.พระนครเป็นผู้นำเสวนา (ประธาน CoP) และมี อ.ดร.พสิษฐ์ สุวรรณภิงคาร และผศ.ดร.สุรเชษฐ เดชฟุ้ง อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.พระนคร เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี
3. CoP 3 การบริการวิชาการ : บริการวิชาการเสริมสร้างชุมชนนวัตกรรม โดยมี ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธุนะ รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นตัวแทนนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีของ มทร.พระนคร
4. CoP 4 การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม : นวัตกรรมสร้างสรรค์สู่ความยั่งยืนทางวัฒนธรรม โดยมี ผศ.เจทญา กิจเกิดแสง ผู้ช่วยอธิการบดีและผู้อำนวยการกองศิลปวัฒนธรรม เป็นตัวแทนนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีของมหาวิทยาลัย
5. CoP 5 การบริหารจัดการ : การพัฒนาการบริหารจัดการกับการสร้างฐานวัฒนธรรมองค์กร โดยมี น.ส.สมจิตต์ มหัธนันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดี เป็นตัวแทนนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีของมหาวิทยาลัย
6. CoP 6 การประกันคุณภาพการศึกษา : การประยุกต์นวัตกรรมสู่การประกันคุณภาพการศึกษา โดยมีบุคลากรสายสนันสนุนของมหาวิทยาลัย จำนวน 3 คนเข้าร่วมการเสวนาใน CoP นี้ และ
7. CoP 7 การพัฒนานักศึกษา : กิจกรรมเสริมหลักสูตรเพิ่มพัฒนาบัณฑิตนักสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยมี อ.ศรัณย์ ฉัตรธัญญกิจ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มทร.พระนครเป็นตัวแทนนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีของมหาวิทยาลัย