แฟ้มสะสมงาน เริ่มต้นขึ้นมาจากวงการอาชีพ เช่น สถาปัตยกรรม การโฆษณา การถ่ายภาพ และวรรณกรรม เป็นต้น โดยผู้ที่มีอาชีพเหล่านี้จะรวบรวมตัวอย่างผลงานที่ดีเด่นและน่าพอใจของตนเอาไว้ โดยงานที่รวบรวมไว้นั้นต้องตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าผู้ใช้บริการ หรือนายจ้างของตน ส่วนแฟ้มสะสมผลงานของนักเรียนนั้น เป็นการรวบรวมตัวอย่างผลงานที่สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของการสอน ผลงานที่รวบรวมแสดงให้เห็นถึงความพยายาม ความก้าวหน้า และผลสำเร็จในเรื่องต่างๆ ซึ่งในการรวบรวมผลงานดังกล่าว นักเรียนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดเนื้อหาและเกณฑ์การคัดเลือก เกณฑ์ตัดสินคุณภาพ ตลอดจนมีโอกาสแสดงความรู้สึกต่อผลงานของตนเอง
แฟ้มสะสมงาน จะเป็นแหล่งสะสมงาน หรือหลักฐานที่ครู ผู้ปกครอง และนักเรียนจะนำไปใช้ประกอบในการประเมินความรู้ ความสามารถ และทักษะของนักเรียน ซึ่งสามารถประเมินได้หลายคุณลักษณะ แฟ้มสะสมงานในวงการอาชีพ และแฟ้มสะสมงานของนักเรียนมีส่วนต่างกัน คือ แฟ้มสะสมงานในวงการอาชีพมีไว้เพื่อประโยชน์ในการประเมินแบบรวมสรุป (summative evaluation) ส่วนแฟ้มสะสมงานของนักเรียนมีไว้เพื่อประโยชน์ในการใช้ประเมินผลย่อย (formative evaluation) แต่ก็มีส่วนที่เหมือนกัน นั่นคือ เป็นแหล่งสะสมผลงาน หรือหลักฐานที่เป็นเครื่องแสดงความรู้ ความสามารถ และทักษะของเจ้าของแฟ้มสะสมงาน
ในการจัดทำแฟ้มสะสมงานนั้น จะเน้นบทบาทของนักเรียนในการสร้างความเข้าใจด้วยตนเอง และสามารถประเมินความก้าวหน้าของตนเองได้ ซึ่งก็จะสามารถเห็นทั้งกระบวนการและผลผลิตของงานที่นักเรียนทำได้ อย่างไรก็ตาม การที่นักเรียนจะทำแฟ้มสะสมงานได้ผลเป็นอย่างดีนั้น รูปแบบของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนต้องเปลี่ยนไปจากการเน้นครูเป็นศูนย์กลาง (teacher centered) เป็นเน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง (student center) ให้นักเรียนได้มีโอกาสคิด วางแผน ลงมือปฏิบัติตามแผน ประเมิน และปรับปรุงตนเองอย่างต่อเนื่อง
การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลางที่เห็นได้ชัดๆ เช่น การเรียนภาษาแบบองค์รวม (whole language learning) ซึ่งดูเหมือนว่า คงไม่มีเครื่องมือชนิดใดชนิดหนึ่งที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะวัดความรู้ ความสามารถ และทักษะของนักเรียนได้ครบถ้วน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องใช้เครื่องมือวัดผลที่หลากหลาย วิธีการที่เหมาะสมที่สุดในการเก็บข้อมูล
ลักษณะของแฟ้มสะสมงาน
แฟ้มสะสมงาน มีลักษณะสำคัญๆ พอสรุปได้ ดังนี้ (Oosterhof, 1994 : 238-243)
- แฟ้มสะสมงานสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการสอนเป็นรายบุคคลได้เป็นอย่างดี เพราะนักเรียนแต่ละคนจะมีแฟ้มสะสมงานเป็นของตนเอง มีการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นลักษณะเฉพาะของตนเอง ครูจะทราบ จุดเด่นและจุดด้อยของนักเรียนแต่คนจากแฟ้มสะสมงานผลงานในแฟ้มสะสมงานจะมุ่งตอบสนองต่อจุดมุ่งหมายของการสอนที่ระบุว่า อย่างไร (how) มากกว่าอะไร (what)
- แฟ้มสะสมงานจะเน้นผลผลิตของงานมากกว่ากระบวนการทำงาน อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นนี้ ฟาร์ และโทน ( Farr and Tone, 1994 : 58-59) มีความเห็นว่าถ้าเป็นแฟ้มสะสมงานทางวิชาชีพ เช่น พวกจิตรกร ช่างภาพ ก็ควรใช้แฟ้มสะสมงานที่สามารถทำให้มองเห็นกระบวนการ ความก้าวหน้า และพัฒนาการในการเรียนรู้ของนักเรียนได้ นอกจากนั้น ยังทำให้ครูได้เรียนรู้เกี่ยวกับผลงานที่เกิดจากการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของตน แฟ้มสะสมงานที่เน้นผลผลิต เรียกว่า Show Portfolios หรือ Final Portfolios แฟ้มสะสมงานที่เน้นกระบวนการ เรียนว่า Working Portfolios
- แฟ้มสะสมงานจะเน้นจุดเด่นมากกว่าจุดด้อยของนักเรียน ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนเกิดความชื่นชมในผลงานของตนเอง สำหรับจุดอ่อนนั้น ครูก็จะนำไปวางแผนจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การทดสอบแบบเดิมมักตรวจหาความผิดพลาด หรือข้อบกพร่องของนักเรียน
- แฟ้มสะสมงานจะเน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งนักเรียนจะเป็นผู้วางแผนลงมือทำผลงาน ประเมินและปรับปรุงผลงานด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยมีครูจะช่วยชี้แนะ นักเรียนเป็นเจ้าของผลงาน เจ้าของแฟ้มสะสมงาน ผลงานของนักเรียนต้องมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสภาพชีวิตจริงๆ
- แฟ้มสะสมงานช่วยสื่อความหมายในเรื่องความรู้ ความสามารถ และทักษะของนักเรียนในเรื่องต่างๆ รวมทั้งความก้าวหน้าและพัฒนาการของนักเรียนแก่คนอื่น เช่น ผู้ปกครอง นักแนะแนว ครูผู้สอน และผู้บริหารโรงเรียนได้เป็นอย่างดี
- การประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมงานยังมีปัญหาเรื่องความเชื่อมั่น หรือความเห็นที่สอดคล้องกันในการประเมิน ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากการกำหนดเกณฑ์ในการประเมินไม่ค่อยชัดเจน หากผู้ประเมินยึดองค์ประกอบของการประเมินต่างกัน จะมีผลทำให้ความเชื่อมั่น หรือความสอดคล้องของการประเมินมีค่าต่ำ
ประเภทของแฟ้มสะสมผลงาน
แฟ้มสะสมผลงานมีหลายประเภท สามารถนำไปใช้ในจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน ดังนี้
- แฟ้มสะสมผลงานส่วนบุคคล ( Personal Portfolio)
เป็นแฟ้มที่แสดงถึงบุคลิกภาพส่วนตัวของนักเรียนแต่ละคน ทำให้ครูรู้จักความสามารถพิเศษ ความสนใจ ความถนัดตามธรรมชาติหรือพรสวรรค์ของนักเรียน เพื่อประโยชน์ในการแนะแนวการศึกษา ภายในแฟ้มประกอบด้วยภาพกิจกรรมต่างๆ นอกโรงเรียน ที่นักเรียนทำเมื่อมีเวลาว่าง เช่น งานอดิเรกที่ชอบ ดนตรี กีฬา และงานศิลปะ เป็นต้น - แฟ้มสะสมผลงานของโครงการต่างๆ ( Project Portfolio)
เป็นแฟ้มที่แสดงถึงความพยายามในการทำงานตามโครงการ จนประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหารศึกษารายบุคคล ( Independent Study) เช่น แฟ้มสะสมผลงานโครงการวิทยาศาสตร์ ในแฟ้มประกอบด้วยความเป็นมา จุดประสงค์ของโครงการ ขั้นตอนการดำเนินงาน วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ และผลงานที่เกิดขึ้น เป็นต้น - แฟ้มสะสมงานเชิงวิชาการ (Academic Portfolio) หรือแฟ้มสะสมผลงานของนักเรียน (Student Portfolio)
เป็นแฟ้มที่แสดงถึงความรู้ ความสามารถในการเรียนรู้ของนักเรียนตามหลักสูตร เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการประเมินผลการเรียน ซึ่งสามารถจัดทำในรูปแบบต่างๆ กัน ดังนี้- แฟ้มสะสมผลงานของนักเรียนเป็นรายบุคคล โดยจัดทำเป็นรายวิชา ใน 1 ภาคเรียน หรือ 1 ปีการศึกษา หรืออาจจัดทำแบบบูรณาการรวมหลายวิชา หรือแบบหลายชั้นเรียน โดยให้นักเรียนเลือกผลงานตัวอย่างที่ดีเด่น ของแต่ละวิชามาเก็บสะสมไว้ ในระยะเวลาช่วงละ 3 ปี เช่น ป. 1- ป. 3 หรือ ป. 4- ป. 6 เป็นต้น เพื่อให้เห็นพัฒนาการของนัดเรียนในช่วงเวลาดังกล่าว
- แฟ้มสะสมผลงานของชั้นเรียน เพื่อเก็บสะสมผลงานที่แสดงถึงภาพรวมของความสำเร็จในการเรียน หรือการทำกิจกรรมของนักเรียนทั้งห้อง เช่นกิจกรรมการประกวดของห้องเรียน กิจกรรมกีฬา และการแสดงละครของห้อง เป็นต้น
- แฟ้มสะสมผลงานของโรงเรียน เพื่อเก็บสะสมผลงานที่แสดงถึงความสำเร็จในด้านการศึกษาของโรงเรียน เช่น กิจกรรมการประกวดของโรงเรียน รางวัลต่างๆ ที่นักเรียน ครู ผู้บริหารโรงเรียน และโรงเรียนได้รับ เป็นต้น
- แฟ้มสะสมผลงานเชิงวิชาชีพ (Professional Portfolio)
เป็นแฟ้มที่แสดงถึงความรู้ ความสามารถของบุคคล เพื่อใช้ในการสมัครเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา หรือสมัครเข้าทำงาน หรือขอเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น เช่น- แฟ้มสะสมผลงานของนักเรียนเพื่อการเรียนต่อหรือสมัครงาน แฟ้มนี้จะแสดงถึงความสามารถในด้านการเรียนและการทำกิจกรรมพิเศษของนักเรียนเพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาเข้าเรียนต่อหรือทำงาน ร่วมกับการสอบหรือการสัมภาษณ์
- แฟ้มสะสมผลงานด้านประสบการณ์ในการสอนของนักศึกษาฝึกหัดครูหรือของครูผู้สอน (Teacher Portfolio) แฟ้มนี้จะแสดงถึงความสามารถในการสอน เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการให้เกรดของนักศึกษาฝึกสอน หรือรับสมัครเข้าเป็นครูประจำการ แต่สำหรับครูผู้สอน แฟ้มนี้จะใช้เป็นหลักฐานในการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน เลื่อนตำแหน่ง หรือย้ายโรงเรียน ภายในแฟ้มประกอบด้วย แผนการสอน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และผลงานของนักเรียน การอบรมสัมมนาเพื่อพัฒนาตนเอง แบบประเมินผลการสอนโดยตนเอง นักเรียน ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหาร และผู้ปกครอง เป็นต้น
- แฟ้มสะสมผลงานของผู้บริหาร แฟ้มนี้จะเก็บรวบรวมหลักฐานที่แสดงถึงความสามารถในการบริหารงานจนประสบความสำเร็จ ของผู้บริหาร
- แฟ้มสะสมผลงานของพนักงานในองค์กรธุรกิจ นายจ้างจะใช้แฟ้มสะสมผลงานนี้ เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคนงาน และประเมินผลการทำงาน เพื่อเลื่อนตำแหน่งหรือขั้นเงินเดือนให้สูงขึ้น
กระบวนการประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมงาน
หากกล่าวถึง คำว่า portfolio นั่นหมายถึง แหล่งเก็บสะสมผลงานที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการเก็บรวบรวม แต่ถ้ากล่าวถึง คำว่า portfolio assessment จะเป็นกระบวนการประเมินความรู้ ความสามารถ และทักษะของเจ้าของแฟ้มสะสมงาน โดยพิจารณาจากผลงาน หรือหลักฐานในแฟ้มสะสมงาน ได้มีผู้เสนอแนะกระบวนการประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมงานไว้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้จัดทำแฟ้มสะสมงาน แต่รูปแบบค่อนข้างชัดเจน มีขั้นตอน ดังนี้ (Burkey, Fogarty and Belgrad 1994 : xi)
- กำหนดจุดประสงค์และประเภทของแฟ้มสะสมงาน (Project the purposes and types of portfolios)
- รวบรวมผลงานและจัดระบบแฟ้ม (Collect and organize artifacts over time)
- คัดเลือกผลงาน (Select key artifacts base on criteria)
- สร้างสรรค์ผลงาน/แฟ้มให้มีเอกลักษณ์ของตนเอง (Interject personality through signature pieces)
- แสดงความคิดเห็นและความรู้สึกต่อผลงาน (Reflect metacognitively on each item)
- การตรวจสอบความสามารถของตนเอง (Inspect to self access and align to goals)
- ทำให้สมบูรณ์และประเมิน (Perfect and evaluate)
- แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้อื่น (Connect and conference with others)
- ปรับเปลี่ยนผลงาน (Inject and eject artifacts continaully to update)
- ประชาสัมพันธ์ผลงานของนักเรียน (Respect accomplishments and show with pride)
โครงสร้างแฟ้มสะสมงานที่ใช้ในประเทศอเมริกา แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1 เป็นส่วนนำ ประกอบด้วยบก. ประวัติผู้ทำ รายการจุดประสงค์การเรียนรู้ แผนการศึกษาส่วนบุคคล สารบัญชิ้นงาน ตัวบ่งชี้ประกอบงาน รายการการเอาออกและนำเข้าชิ้นงาน
ส่วนที่ 2 เป็นที่เก็บชิ้นงานที่สร้างขึ้นจากการเรียนการสอน การสะท้อนความคิดเห็น แสดงประวัติของงาน จำนวนหนังสือที่อ่าน เวลาที่ใช้ทำงาน คะแนนจากการทดสอบ แบบสำรวจรายการของครู บันทึกความคิดเห็นเกี่ยวกับงาน หรือวิชาของนักเรียน
ส่วนที่ 3 เป็นที่เก็บเกณฑ์การตัดสินแฟ้มงาน และข้อมูลการประเมินของครู เพื่อน และผู้ปกครอง รวมทั้งหลักฐานการประเมินตนเองของนักเรียน แผนการและแนวคิดในการประชุมแฟ้มผลงาน
ส่วนระเบียบสัมฤทธิ์ผล (Record of achievement) ซึ่งเป็นแฟ้มสะสมผลงานของนักเรียนในประเทศอังกฤษ มีส่วนประกอบ ดังนี้
- หน้าปก ซึ่งมีรูปแบบเดียวกันทั้งประเทศ
- ข้อมูลส่วนตัวของนักเรียน
- เนื้อหา
- สรุปผลสัมฤทธิ์ผลทางการเรียนตามหลักสูตร เช่น ผลการสอบ ความสามารถ ความสนใจ แผนในอนาคต เป็นต้น
- สรุประดับผลการเรียนหรือคุณสมบัติของนักเรียนในการผ่านหลักสูตร
- สรุปผลสัมฤทธิ์ และประสบการณ์ด้านอื่นๆ
- ประวัติการทำงาน
โครงสร้างของแฟ้มสะสมผลงานในประเทศไทย
สำหรับในประเทศไทยนั้นยังไม่มีกำหนดโครงสร้างของแฟ้มสะสมผลงานอย่างเป็นทางการ ขึ้นอยู่กับการออกแบบของนักการศึกษา หรือครูผู้สอนแต่ละคน ดังนี้
- ส่วนนำ ประกอบด้วย
- ข้อมูลส่วนตัวของนักเรียน
- สารบัญ
- จุดประสงค์การเรียนรู้ ข้อตกลง เกณฑ์การตัดสินผลงาน
- ส่วนเนื้อหา (Content) ประกอบด้วยผลงาน หรือหลักฐานต่างๆ ที่นักเรียนคัดเลือก
- ส่วนสนับสนุน (Support) ประกอบด้วย
- แผนพัฒนาและปรับปรุงการเรียน
- สรุปผลความก้าวหน้าในการเรียนเป็นรายเดือน
- ผลการสอบ ผลการสังเกต และประกาศนียบัตร
- สรุปผลการประเมิน
โครงสร้างแฟ้มสะสมผลงานของศูนย์พัฒนาหลักสูตร กรมวิชาการ มีดังนี้
- สารบัญ
- คำนำ
- ประวัติส่วนตัว
- ชิ้นงาน
- แบบทดสอบต่างๆ
- การประเมินตนเอง
- การประเมินผลโดยเพื่อน
- การประเมินผลโดยครูผู้สอน
- การประเมินผลโดยผู้ปกครอง
- การประเมินผลโดยผู้สนใจอื่นๆ
- ความรู้สึกต่อวิชา
- ภาคผนวก