แนวคิดและทฤษฎี

แฟ้มสะสมงาน (Portfolio)

แฟ้มสะสมงาน เริ่มต้นขึ้นมาจากวงการอาชีพ เช่น สถาปัตยกรรม การโฆษณา การถ่ายภาพ และวรรณกรรม เป็นต้น โดยผู้ที่มีอาชีพเหล่านี้จะรวบรวมตัวอย่างผลงานที่ดีเด่นและน่าพอใจของตนเอาไว้ โดยงานที่รวบรวมไว้นั้นต้องตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าผู้ใช้บริการ หรือนายจ้างของตน ส่วนแฟ้มสะสมผลงานของนักเรียนนั้น เป็นการรวบรวมตัวอย่างผลงานที่สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของการสอน ผลงานที่รวบรวมแสดงให้เห็นถึงความพยายาม ความก้าวหน้า และผลสำเร็จในเรื่องต่างๆ ซึ่งในการรวบรวมผลงานดังกล่าว นักเรียนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดเนื้อหาและเกณฑ์การคัดเลือก เกณฑ์ตัดสินคุณภาพ ตลอดจนมีโอกาสแสดงความรู้สึกต่อผลงานของตนเอง

แฟ้มสะสมงาน จะเป็นแหล่งสะสมงาน หรือหลักฐานที่ครู ผู้ปกครอง และนักเรียนจะนำไปใช้ประกอบในการประเมินความรู้ ความสามารถ และทักษะของนักเรียน ซึ่งสามารถประเมินได้หลายคุณลักษณะ แฟ้มสะสมงานในวงการอาชีพ และแฟ้มสะสมงานของนักเรียนมีส่วนต่างกัน คือ แฟ้มสะสมงานในวงการอาชีพมีไว้เพื่อประโยชน์ในการประเมินแบบรวมสรุป (summative evaluation) ส่วนแฟ้มสะสมงานของนักเรียนมีไว้เพื่อประโยชน์ในการใช้ประเมินผลย่อย (formative evaluation) แต่ก็มีส่วนที่เหมือนกัน นั่นคือ เป็นแหล่งสะสมผลงาน หรือหลักฐานที่เป็นเครื่องแสดงความรู้ ความสามารถ และทักษะของเจ้าของแฟ้มสะสมงาน
ในการจัดทำแฟ้มสะสมงานนั้น จะเน้นบทบาทของนักเรียนในการสร้างความเข้าใจด้วยตนเอง และสามารถประเมินความก้าวหน้าของตนเองได้ ซึ่งก็จะสามารถเห็นทั้งกระบวนการและผลผลิตของงานที่นักเรียนทำได้ อย่างไรก็ตาม การที่นักเรียนจะทำแฟ้มสะสมงานได้ผลเป็นอย่างดีนั้น รูปแบบของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนต้องเปลี่ยนไปจากการเน้นครูเป็นศูนย์กลาง (teacher centered) เป็นเน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง (student center) ให้นักเรียนได้มีโอกาสคิด วางแผน ลงมือปฏิบัติตามแผน ประเมิน และปรับปรุงตนเองอย่างต่อเนื่อง

การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลางที่เห็นได้ชัดๆ เช่น การเรียนภาษาแบบองค์รวม (whole language learning) ซึ่งดูเหมือนว่า คงไม่มีเครื่องมือชนิดใดชนิดหนึ่งที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะวัดความรู้ ความสามารถ และทักษะของนักเรียนได้ครบถ้วน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องใช้เครื่องมือวัดผลที่หลากหลาย วิธีการที่เหมาะสมที่สุดในการเก็บข้อมูล

ลักษณะของแฟ้มสะสมงาน

แฟ้มสะสมงาน มีลักษณะสำคัญๆ พอสรุปได้ ดังนี้ (Oosterhof, 1994 : 238-243)

  1. แฟ้มสะสมงานสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการสอนเป็นรายบุคคลได้เป็นอย่างดี เพราะนักเรียนแต่ละคนจะมีแฟ้มสะสมงานเป็นของตนเอง มีการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นลักษณะเฉพาะของตนเอง ครูจะทราบ จุดเด่นและจุดด้อยของนักเรียนแต่คนจากแฟ้มสะสมงานผลงานในแฟ้มสะสมงานจะมุ่งตอบสนองต่อจุดมุ่งหมายของการสอนที่ระบุว่า อย่างไร (how) มากกว่าอะไร (what)
  2. แฟ้มสะสมงานจะเน้นผลผลิตของงานมากกว่ากระบวนการทำงาน อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นนี้ ฟาร์ และโทน ( Farr and Tone, 1994 : 58-59) มีความเห็นว่าถ้าเป็นแฟ้มสะสมงานทางวิชาชีพ เช่น พวกจิตรกร ช่างภาพ ก็ควรใช้แฟ้มสะสมงานที่สามารถทำให้มองเห็นกระบวนการ ความก้าวหน้า และพัฒนาการในการเรียนรู้ของนักเรียนได้ นอกจากนั้น ยังทำให้ครูได้เรียนรู้เกี่ยวกับผลงานที่เกิดจากการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของตน แฟ้มสะสมงานที่เน้นผลผลิต เรียกว่า Show Portfolios หรือ Final Portfolios แฟ้มสะสมงานที่เน้นกระบวนการ เรียนว่า Working Portfolios
  3. แฟ้มสะสมงานจะเน้นจุดเด่นมากกว่าจุดด้อยของนักเรียน ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนเกิดความชื่นชมในผลงานของตนเอง สำหรับจุดอ่อนนั้น ครูก็จะนำไปวางแผนจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การทดสอบแบบเดิมมักตรวจหาความผิดพลาด หรือข้อบกพร่องของนักเรียน
  4. แฟ้มสะสมงานจะเน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งนักเรียนจะเป็นผู้วางแผนลงมือทำผลงาน ประเมินและปรับปรุงผลงานด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยมีครูจะช่วยชี้แนะ นักเรียนเป็นเจ้าของผลงาน เจ้าของแฟ้มสะสมงาน ผลงานของนักเรียนต้องมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสภาพชีวิตจริงๆ
  5. แฟ้มสะสมงานช่วยสื่อความหมายในเรื่องความรู้ ความสามารถ และทักษะของนักเรียนในเรื่องต่างๆ รวมทั้งความก้าวหน้าและพัฒนาการของนักเรียนแก่คนอื่น เช่น ผู้ปกครอง นักแนะแนว ครูผู้สอน และผู้บริหารโรงเรียนได้เป็นอย่างดี
  6. การประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมงานยังมีปัญหาเรื่องความเชื่อมั่น หรือความเห็นที่สอดคล้องกันในการประเมิน ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากการกำหนดเกณฑ์ในการประเมินไม่ค่อยชัดเจน หากผู้ประเมินยึดองค์ประกอบของการประเมินต่างกัน จะมีผลทำให้ความเชื่อมั่น หรือความสอดคล้องของการประเมินมีค่าต่ำ

ประเภทของแฟ้มสะสมผลงาน

แฟ้มสะสมผลงานมีหลายประเภท สามารถนำไปใช้ในจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน ดังนี้

  1. แฟ้มสะสมผลงานส่วนบุคคล ( Personal Portfolio)
    เป็นแฟ้มที่แสดงถึงบุคลิกภาพส่วนตัวของนักเรียนแต่ละคน ทำให้ครูรู้จักความสามารถพิเศษ ความสนใจ ความถนัดตามธรรมชาติหรือพรสวรรค์ของนักเรียน เพื่อประโยชน์ในการแนะแนวการศึกษา ภายในแฟ้มประกอบด้วยภาพกิจกรรมต่างๆ นอกโรงเรียน ที่นักเรียนทำเมื่อมีเวลาว่าง เช่น งานอดิเรกที่ชอบ ดนตรี กีฬา และงานศิลปะ เป็นต้น
  2. แฟ้มสะสมผลงานของโครงการต่างๆ ( Project Portfolio)
    เป็นแฟ้มที่แสดงถึงความพยายามในการทำงานตามโครงการ จนประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหารศึกษารายบุคคล ( Independent Study) เช่น แฟ้มสะสมผลงานโครงการวิทยาศาสตร์ ในแฟ้มประกอบด้วยความเป็นมา จุดประสงค์ของโครงการ ขั้นตอนการดำเนินงาน วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ และผลงานที่เกิดขึ้น เป็นต้น
  3. แฟ้มสะสมงานเชิงวิชาการ (Academic Portfolio) หรือแฟ้มสะสมผลงานของนักเรียน (Student Portfolio)
    เป็นแฟ้มที่แสดงถึงความรู้ ความสามารถในการเรียนรู้ของนักเรียนตามหลักสูตร เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการประเมินผลการเรียน ซึ่งสามารถจัดทำในรูปแบบต่างๆ กัน ดังนี้

    • แฟ้มสะสมผลงานของนักเรียนเป็นรายบุคคล โดยจัดทำเป็นรายวิชา ใน 1 ภาคเรียน หรือ 1 ปีการศึกษา หรืออาจจัดทำแบบบูรณาการรวมหลายวิชา หรือแบบหลายชั้นเรียน โดยให้นักเรียนเลือกผลงานตัวอย่างที่ดีเด่น ของแต่ละวิชามาเก็บสะสมไว้ ในระยะเวลาช่วงละ 3 ปี เช่น ป. 1- ป. 3 หรือ ป. 4- ป. 6 เป็นต้น เพื่อให้เห็นพัฒนาการของนัดเรียนในช่วงเวลาดังกล่าว
    • แฟ้มสะสมผลงานของชั้นเรียน เพื่อเก็บสะสมผลงานที่แสดงถึงภาพรวมของความสำเร็จในการเรียน หรือการทำกิจกรรมของนักเรียนทั้งห้อง เช่นกิจกรรมการประกวดของห้องเรียน กิจกรรมกีฬา และการแสดงละครของห้อง เป็นต้น
    • แฟ้มสะสมผลงานของโรงเรียน เพื่อเก็บสะสมผลงานที่แสดงถึงความสำเร็จในด้านการศึกษาของโรงเรียน เช่น กิจกรรมการประกวดของโรงเรียน รางวัลต่างๆ ที่นักเรียน ครู ผู้บริหารโรงเรียน และโรงเรียนได้รับ เป็นต้น
  4. แฟ้มสะสมผลงานเชิงวิชาชีพ (Professional Portfolio)
    เป็นแฟ้มที่แสดงถึงความรู้ ความสามารถของบุคคล เพื่อใช้ในการสมัครเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา หรือสมัครเข้าทำงาน หรือขอเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น เช่น

    • แฟ้มสะสมผลงานของนักเรียนเพื่อการเรียนต่อหรือสมัครงาน แฟ้มนี้จะแสดงถึงความสามารถในด้านการเรียนและการทำกิจกรรมพิเศษของนักเรียนเพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาเข้าเรียนต่อหรือทำงาน ร่วมกับการสอบหรือการสัมภาษณ์
    • แฟ้มสะสมผลงานด้านประสบการณ์ในการสอนของนักศึกษาฝึกหัดครูหรือของครูผู้สอน (Teacher Portfolio) แฟ้มนี้จะแสดงถึงความสามารถในการสอน เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการให้เกรดของนักศึกษาฝึกสอน หรือรับสมัครเข้าเป็นครูประจำการ แต่สำหรับครูผู้สอน แฟ้มนี้จะใช้เป็นหลักฐานในการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน เลื่อนตำแหน่ง หรือย้ายโรงเรียน ภายในแฟ้มประกอบด้วย แผนการสอน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และผลงานของนักเรียน การอบรมสัมมนาเพื่อพัฒนาตนเอง แบบประเมินผลการสอนโดยตนเอง นักเรียน ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหาร และผู้ปกครอง เป็นต้น
    • แฟ้มสะสมผลงานของผู้บริหาร แฟ้มนี้จะเก็บรวบรวมหลักฐานที่แสดงถึงความสามารถในการบริหารงานจนประสบความสำเร็จ ของผู้บริหาร
    • แฟ้มสะสมผลงานของพนักงานในองค์กรธุรกิจ นายจ้างจะใช้แฟ้มสะสมผลงานนี้ เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคนงาน และประเมินผลการทำงาน เพื่อเลื่อนตำแหน่งหรือขั้นเงินเดือนให้สูงขึ้น

กระบวนการประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมงาน

หากกล่าวถึง คำว่า portfolio นั่นหมายถึง แหล่งเก็บสะสมผลงานที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการเก็บรวบรวม แต่ถ้ากล่าวถึง คำว่า portfolio assessment จะเป็นกระบวนการประเมินความรู้ ความสามารถ และทักษะของเจ้าของแฟ้มสะสมงาน โดยพิจารณาจากผลงาน หรือหลักฐานในแฟ้มสะสมงาน ได้มีผู้เสนอแนะกระบวนการประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมงานไว้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้จัดทำแฟ้มสะสมงาน แต่รูปแบบค่อนข้างชัดเจน มีขั้นตอน ดังนี้ (Burkey, Fogarty and Belgrad 1994 : xi)

  1. กำหนดจุดประสงค์และประเภทของแฟ้มสะสมงาน (Project the purposes and types of portfolios)
  2. รวบรวมผลงานและจัดระบบแฟ้ม (Collect and organize artifacts over time)
  3. คัดเลือกผลงาน (Select key artifacts base on criteria)
  4. สร้างสรรค์ผลงาน/แฟ้มให้มีเอกลักษณ์ของตนเอง (Interject personality through signature pieces)
  5. แสดงความคิดเห็นและความรู้สึกต่อผลงาน (Reflect metacognitively on each item)
  6. การตรวจสอบความสามารถของตนเอง (Inspect to self access and align to goals)
  7. ทำให้สมบูรณ์และประเมิน (Perfect and evaluate)
  8. แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้อื่น (Connect and conference with others)
  9. ปรับเปลี่ยนผลงาน (Inject and eject artifacts continaully to update)
  10. ประชาสัมพันธ์ผลงานของนักเรียน (Respect accomplishments and show with pride)

โครงสร้างแฟ้มสะสมงานที่ใช้ในประเทศอเมริกา แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ 1 เป็นส่วนนำ ประกอบด้วยบก. ประวัติผู้ทำ รายการจุดประสงค์การเรียนรู้ แผนการศึกษาส่วนบุคคล สารบัญชิ้นงาน ตัวบ่งชี้ประกอบงาน รายการการเอาออกและนำเข้าชิ้นงาน

ส่วนที่ 2 เป็นที่เก็บชิ้นงานที่สร้างขึ้นจากการเรียนการสอน การสะท้อนความคิดเห็น แสดงประวัติของงาน จำนวนหนังสือที่อ่าน เวลาที่ใช้ทำงาน คะแนนจากการทดสอบ แบบสำรวจรายการของครู บันทึกความคิดเห็นเกี่ยวกับงาน หรือวิชาของนักเรียน

ส่วนที่ 3 เป็นที่เก็บเกณฑ์การตัดสินแฟ้มงาน และข้อมูลการประเมินของครู เพื่อน และผู้ปกครอง รวมทั้งหลักฐานการประเมินตนเองของนักเรียน แผนการและแนวคิดในการประชุมแฟ้มผลงาน
ส่วนระเบียบสัมฤทธิ์ผล (Record of achievement) ซึ่งเป็นแฟ้มสะสมผลงานของนักเรียนในประเทศอังกฤษ มีส่วนประกอบ ดังนี้

  1. หน้าปก ซึ่งมีรูปแบบเดียวกันทั้งประเทศ
  2. ข้อมูลส่วนตัวของนักเรียน
  3. เนื้อหา
    • สรุปผลสัมฤทธิ์ผลทางการเรียนตามหลักสูตร เช่น ผลการสอบ ความสามารถ ความสนใจ แผนในอนาคต เป็นต้น
    • สรุประดับผลการเรียนหรือคุณสมบัติของนักเรียนในการผ่านหลักสูตร
    • สรุปผลสัมฤทธิ์ และประสบการณ์ด้านอื่นๆ
  4. ประวัติการทำงาน

โครงสร้างของแฟ้มสะสมผลงานในประเทศไทย

สำหรับในประเทศไทยนั้นยังไม่มีกำหนดโครงสร้างของแฟ้มสะสมผลงานอย่างเป็นทางการ ขึ้นอยู่กับการออกแบบของนักการศึกษา หรือครูผู้สอนแต่ละคน ดังนี้

  1. ส่วนนำ ประกอบด้วย
    • ข้อมูลส่วนตัวของนักเรียน
    • สารบัญ
    • จุดประสงค์การเรียนรู้ ข้อตกลง เกณฑ์การตัดสินผลงาน
  2. ส่วนเนื้อหา (Content) ประกอบด้วยผลงาน หรือหลักฐานต่างๆ ที่นักเรียนคัดเลือก
  3. ส่วนสนับสนุน (Support) ประกอบด้วย
    • แผนพัฒนาและปรับปรุงการเรียน
    • สรุปผลความก้าวหน้าในการเรียนเป็นรายเดือน
    • ผลการสอบ ผลการสังเกต และประกาศนียบัตร
  4. สรุปผลการประเมิน

โครงสร้างแฟ้มสะสมผลงานของศูนย์พัฒนาหลักสูตร กรมวิชาการ มีดังนี้

  1. สารบัญ
  2. คำนำ
  3. ประวัติส่วนตัว
  4. ชิ้นงาน
  5. แบบทดสอบต่างๆ
  6. การประเมินตนเอง
  7. การประเมินผลโดยเพื่อน
  8. การประเมินผลโดยครูผู้สอน
  9. การประเมินผลโดยผู้ปกครอง
  10. การประเมินผลโดยผู้สนใจอื่นๆ
  11. ความรู้สึกต่อวิชา
  12. ภาคผนวก

Loading