แนวคิดและทฤษฎี

Problem Based Learning

คณะทำงานในคณะกรรมการด้านกิจการการศึกษาของสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (Working Group of the American Psychological ‘s Board of Educational Affairs) (American Psychology Association, 1997, Revised in 2005) ได้เสนอหลักการ 14 ข้อ เกี่ยวกับกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยพบว่าการจัดการเรียนการสอนที่เป็นเลิศทุกที่ได้ใช้หลักการ 14 ข้อนี้แทบทั้งสิ้น หลักการที่ว่านี้เกิดจากการศึกษา ค้นคว้า และวิจัยที่รวมหลากหลายสาขาวิชาของจิตวิทยาเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นจิตวิทยาพัฒนาการ จิตวิทยาการศึกษา จิตวิทยาสังคม จิตวิทยาคลินิก จิตวิทยาชุมชน และจิตวิทยาองค์การ ซึ่งตามหลักการแล้วการจัดการเรียนการสอนแบบนี้จะได้ผลก็ต่อเมื่อมีการปฏิรูปหรือมีการออกแบบการเรียนการสอนใหม่ โดยการจัดการศึกษาจะต้องมีลักษณะของการเรียนรู้ตลอดชีวิต และพยายามให้เกิดการพัฒนาสุขภาพและความกระตือรือร้นในตัวผู้เรียน

Problem Based Learning Chart

หลักการจัดการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ 14 ประการ จะมุ่งไปที่ปัจจัยภายในตัวผู้เรียนและการเรียนรู้ที่เกิดจากการควบคุมกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนเองมากกว่าการเน้นที่ปัจจัยภายนอก กล่าวคือ

  1. ผู้เรียนจะต้องเป็นผู้แปลความหมายและประสบการณ์ที่ได้รับด้วยตนเอง
  2. การเรียนรู้จะต้องเกิดจากแรงจูงใจภายในตนเองมากกว่าการถูกจูงใจจากคะแนนหรือรางวัล
  3. การทำงานร่วมกับผู้อื่น และการปะทะสัมพันธ์ทางสังคมเป็นสิ่งจำเป็น
  4. ผู้เรียนจะต้องติดตามความคิดของตนเองได้ และสามารถประยุกต์ใช้ความคิดที่มีอยู่ในการเรียนรู้สิ่งใหม่หรือสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม (Slavin, 2003 : 264)

อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่าจะละเลยสิ่งแวดล้อมหรือบริบทภายนอกที่มีผลกระทบต่อปัจจัยภายในของกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน ที่สำคัญหลักการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญทั้ง 14 ข้อนี้มีความเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กัน ไม่มีข้อใดข้อหนึ่งที่สามารถแยกอธิบายได้อย่างสมบูรณ์ในตัวเอง โดยสามารถจัดแบ่งเป็นกลุ่มปัจจัยที่มีความเกี่ยวพันกันนี้ออกได้เป็น 4 ปัจจัย คือ ปัจจัยเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจและ Metacognition ปัจจัยเกี่ยวกับความรู้สึกและการจูงใจ ปัจจัยเกี่ยวกับพัฒนาการและสังคม และปัจจัยเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างบุคคล โดยต่อไปนี้จะนำเสนอหลักการจัดการเรียนการสอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญทั้ง 14 ข้อ แยกตาม 4 ปัจจัยดังกล่าว ดังนี้

Problem Based Learning

ปัจจัยเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจและ Metacognition

  1. ธรรมชาติของกระบวนการเรียนรู้ (Nature of Learning Process) การเรียนรู้สิ่งที่ซับซ้อนจะได้ผลก็ต่อเมื่อเป็นกระบวนการที่เกิดจากความตั้งใจของผู้เรียนที่จะสร้างความหมายจากข้อมูล จากประสบการณ์ที่ได้รับ และจากความความคิดและความเชื่อของตนเอง โดยเน้นที่ตัวผู้เรียนว่าจะต้องมีความกระตือรือร้น มีความรับผิดชอบ และมีจุดมุ่งหมายในการเรียนรู้ ซึ่งผู้สอนสามารถจูงใจหรือกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกดังกล่าวได้
  2. เป้าหมายของกระบวนการเรียนรู้ (Goals of the Learning Process) เนื่องจากการเรียนรู้จะเกิดจากตัวผู้เรียนที่ต้องมีความตั้งใจและมีจุดมุ่งหมายของตนเอง แต่บางครั้งจุดมุ่งหมายและความต้องการของผู้เรียนอาจไม่ตรงกันกับเป้าหมายของสิ่งที่ต้องการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ ซึ่งในการนี้นักวิชาการ นักการศึกษา และครูผู้สอนจะต้องช่วยทำให้จุดมุ่งหมายและความสนใจส่วนบุคคลของผู้เรียนตรงกับสิ่งที่นำเสนอให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ โดยการลดช่องว่าง ปรับแต่ง ประสมประสาน หรือกระตุ้นความต้องการของผู้เรียน เพื่อให้เกิดการรวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของจุดมุ่งหมายของผู้เรียนและเป้าหมายทางการศึกษา
  3. การสร้างความรู้ (Construction of Knowledge) ความรู้จะขยายกว้างขึ้นและลึกซึ้งขึ้นก็ต่อเมื่อผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิมที่มีอยู่แล้วได้อย่างมีความหมาย ซึ่งรูปแบบของการเชื่อมโยงความรู้ทำได้หลายวิธี เช่น การเติม การปรับแต่ง การจัดความรู้และทักษะเดิมใหม่ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ผู้เรียนจะสามารถเชื่อมโยงความรู้ดังกล่าวและสร้างเป็นความรู้ที่มีความหมายขึ้นมาใหม่ได้ แต่การเชื่อมต่อความรู้ใหม่ไปสู่การปฏิบัติจริงอาจยังทำได้ไม่ดีนัก ดังนั้นผู้สอนจะต้องหาทางช่วยให้ผู้เรียนประยุกต์ความรู้ไปใช้ในประสบการณ์จริงได้
  4. การคิดเชิงกลยุทธ์ (Strategic Thinking) ผู้เรียนจะต้องมีกลยุทธ์ในการคิดเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และการนำความรู้ไปใช้ได้จริง นอกจากนี้ ยังต้องสามารถเลือกใช้กลยุทธ์ที่เหมาะสมในการเรียนรู้ครั้งต่อไปด้วย ซึ่งความสามารถในการคิดเชิงกลยุทธ์และการเลือกใช้กลยุทธ์ดังกล่าวของผู้เรียนเกิดจากการได้รับคำแนะนำและการได้รับผลป้อนกลับ การสังเกต และการได้ใกล้ชิดกับตัวแบบที่เหมาะสม ซึ่งผู้สอนน่าจะสามารถช่วยสนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดความคิดในเชิงกลยุทธ์ได้เป็นอย่างดีด้วยการให้คำชี้แนะ และประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้เรียน รวมทั้งให้ผลป้อนกลับที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาความคิดเชิงกลยุทธ์ของตนเองขึ้นมาได้
  5. การคิดเกี่ยวกับความคิดของตนเอง (Thinking about Thinking) ผู้เรียนจะต้องกระตือรือร้นในการคิด การใช้เหตุผล มีจุดมุ่งหมาย และสามารถเลือกใช้กลยุทธหรือวิธีการที่เหมาะสมเพื่อที่จะบรรลุจุดมุ่งหมาย รวมทั้งติดตามและทบทวนความก้าวหน้าของจุดมุ่งหมายที่ได้ตั้งไว้ และเมื่อประเมินแล้วพบว่าไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ก็สามารถค้นหาวิธีการอื่น ๆ ที่จะทำให้บรรลุจุดมุ่งหมายนั้นต่อไปได้ ดังนั้น ผู้สอนจำเป็นที่จะต้องให้ข้อเสนอแนะที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถพัฒนากลยุทธ์ขั้นสูงในการตรวจสอบ ทบทวน และประเมินความคิดของตนเองเพื่อจะได้ปรับปรุงแก้ไขหรือหาวิธีการใหม่ที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้
  6. บริบทของการเรียนรู้ (Context of Learning) เนื่องจากการเรียนรู้ของผู้เรียนมิได้เกิดขึ้นได้โดยอิสระ ต้องมีปัจจัยสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นบทบาทของผู้สอน วิธีการสอน วัฒนธรรมของกลุ่ม และเทคโนโลยีที่ใช้ประกอบการสอน ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลกระทบต่อแรงจูงใจของผู้เรียน ต่อการเชื่อมโยงความรู้ ต่อยุทธวิธีในการเรียนรู้และการคิดของผู้เรียนแทบทั้งสิ้น ดังนั้น ผู้สอนจะต้องพิจารณาให้ดีด้วยว่า ปัจจัยสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ช่วยพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองได้หรือไม่

ปัจจัยเกี่ยวกับอารมณ์และแรงจูงใจ

  1. อารมณ์และแรงจูงใจมีผลกระทบต่อการเรียนรู้ ( Motivational and Emotional Influences of Learning) ผู้เรียนจะเรียนรู้ได้ดีและเรียนรู้ได้มากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับแรงจูงใจของผู้เรียนซึ่งเป็นผลมาจากสภาวะทางอารมณ์ ความเชื่อ ความสนใจ เป้าหมายในชีวิต และความเคยชินในการคิด โดยอารมณ์ทางบวก ได้แก่ความอยากรู้อยากเห็น และความวิตกกังวลในระดับปานกลางจะทำให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจและความตั้งใจในการทำงานมากยิ่งขึ้น ในทางตรงกันข้ามอารมณ์ทางลบ ได้แก่ ความวิตกกังวลที่สูงเกินไป ความตื่นตระหนก ความรู้สึกไม่มั่นคง รวมทั้งความคิดที่ไม่เหมาะสมบางอย่าง เช่น ความกลัวการพ่ายแพ้ ความล้มเหลว กลัวการถูกลงโทษ การถูกดูหมิ่นเหยียบหยาม ล้วนแล้วแต่มีผลกระทบต่อแรงจูงใจ อันจะทำให้เกิดผลเสียต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน และทำให้ผลการปฏิบัติงานลดลง
  2. แรงจูงใจภายใน (Intrinsic Motivation to Learn) ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดในระดับสูง และความอยากรู้อยากเห็นตามธรรมชาติ ล้วนแล้วแต่ทำให้บุคคลเกิดแรงจูงใจภายในในการเรียน ดังนั้นการจะทำให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจภายในได้ ผู้สอนต้องทำให้ผู้เรียนเกิดความอยากรู้อยากเห็น อยากใช้ความคิดไม่ว่าจะเป็นความคิดสร้างสรรค์หรือความคิดในระดับสูงเพื่อแก้ปัญหา โดยผู้สอนควรเสนองานที่มีลักษณะดังนี้คือ งานที่มีความยากพอสมควรเพื่อท้าทายความสามารถของผู้เรียน และต้องเป็นงานที่ตรงกับความสนใจของผู้เรียน รวมทั้งเป็นงานที่ผู้เรียนได้มีอิสระในการเลือก ในการควบคุม และในการตัดสินใจ ซึ่งถ้าผู้สอนสามารถทำให้งานมีลักษณะดังกล่าวได้ ก็จะทำให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจภายในในการเรียนนั้นเอง
  3. ผลของแรงจูงใจที่มีต่อความพยายาม (Effects of Motivation on Effort) การได้มาซึ่งความรู้และทักษะที่ซับซ้อนต้องอาศัยพลังและความพยายาม ตลอดจนความอดทนที่สูงมาก ผู้สอนจะต้องหากลยุทธที่จะเอื้อให้ผู้เรียนเกิดพลังจูงใจดังกล่าว ซึ่งกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ ได้แก่ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีเป้าหมายชัดเจน การกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจภายในในการปฏิบัติงาน และการทำให้ผู้เรียนรับรู้ถึงความน่าสนใจของงาน ซึ่งกลยุทธ์ต่าง ๆ ดังกล่าวจะส่งผลให้ผู้เรียนเกิดพลัง และเกิดความพยายาม ตลอดจนมีความอดทนในการทำงานสูง

ปัจจัยทางสังคมและการพัฒนา

  1. อิทธิพลของพัฒนาการต่อการเรียนรู้ (Developmental Influences on Learning) ในขั้นพัฒนาการของแต่ละบุคคลจะมีความแตกต่างกันทั้งทางด้านร่างกาย ความคิด อารมณ์ และสังคม อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ และการเรียนรู้จากครอบครัว ชุมชนและสังคม รวมทั้งวัฒนธรรมรอบข้าง ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ผู้สอนจะต้องนำมาพิจารณาและทำความเข้าใจเพื่อที่จะได้สามารถจัดเตรียมเนื้อหา กิจกรรม และวัสดุอุปกรณ์ประกอบการสอนที่เหมาะสมกับพัฒนาการของผู้เรียน เพื่อทำให้ผู้เรียนเกิดความสนใจและสนุกสนานกับการเรียนรู้
  2. อิทธิพลของสังคมต่อการเรียนรู้ (Social Influences on Learning) การปะทะสัมพันธ์ทางสังคม การสื่อสาร และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ล้วนแล้วแต่มีผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนแทบทั้งสิ้น การสนับสนุนให้มีการปะทะสัมพันธ์ทางสังคม การรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน จะช่วยให้บุคคลมีมุมมองที่กว้างไกล เกิดความยืดหยุ่นทางความคิด อันจะนำไปสู่ความสามารถในการคิดขั้นสูงต่อไป นอกจากนี้ ความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคลยังทำให้แต่ละคนเกิดความรู้สึกที่มั่นคง เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ และเอื้ออาทรต่อกัน อันจะนำไปสู่ความรู้สึกมีส่วนร่วมต่อสังคม (Sense of Belonging) การยอมรับตนเอง (Self Acceptance) รวมทั้งความนิยมนับถือตนเองด้วย (Self-Respect) ซึ่งมีผลอย่างมากต่อการเรียนรู้

ปัจจัยเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างบุคคล

  1. ความแตกต่างระหว่างบุคคลในการเรียนรู้ (Individual Differences in Learning) ผู้เรียนแต่ละคนมีกลวิธีการในการเรียนรู้ การจัดกระทำกับความรู้ และความสามารถในการเรียนรู้ที่แตกต่างกันไป อันเป็นผลมาจากประสบการณ์ทางสังคมที่ผ่านมาและการได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่แตกต่างกัน ซึ่งความแตกต่างดังกล่าวอาจเอื้ออำนวยให้บางคนเรียนรู้ได้ดี แต่ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นอุปสรรคขัดขวางให้อีกหลายคนเกิดการเรียนรู้ที่ยากลำบาก ดังนั้นผู้สอนจะต้องหาหนทางที่เป็นกลางในการทำให้ผู้เรียนทุกคนไม่ว่าจะมีการเรียนรู้ การจัดกระทำกับความรู้ และความสามารถในการเรียนรู้แบบใดก็ตามสามารถรับรู้ และจัดกระทำกับความรู้ต่อไปได้ตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล ซึ่งในการนี้ผู้สอนอาจต้องอาศัยอุปกรณ์และเครื่องมือโสตทัศนศึกษาเข้าช่วยด้วย
  2. การเรียนรู้และความหลากหลาย (Learning and Diversity) ถึงแม้หลักการพื้นฐานของการเรียนรู้ การสร้างแรงจูงใจในการเรียน และวิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพ จะเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการเรียนการสอนโดยทั่ว ๆ ไปก็ตาม แต่ก็ยังมีปัจจัยสำคัญอื่น ๆ ที่ผู้สอนจะต้องคำนึงถึงและนำมาพิจารณาประกอบการดำเนินการจัดการเรียนการสอนด้วยก็คือ ความแตกต่างในเรื่องของภาษา เชื้อชาติ ความเชื่อ สถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนวัฒนธรรมความเป็นอยู่ ซึ่งการนำประเด็นเหล่านี้มาพิจารณาประกอบด้วยจะช่วยทำให้การออกแบบบทเรียนและกิจกรรมการเรียนการสอนสามารถดึงดูดและสร้างแรงจูงใจในการเรียนให้เกิดกับผู้เรียนได้เป็นอย่างดี
  3. มาตรฐานและการประเมิน (Standards and Assessment) การตั้งมาตรฐานที่ท้าทายความสามารถ และการติดตามประเมินความก้าวหน้าของผู้เรียนทุกขั้นตอน รวมทั้งการประเมินความรู้และทักษะที่ผู้เรียนได้รับอย่างต่อเนื่อง จะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างมากแก่ทั้งตัวผู้เรียนและผู้สอน ทำให้ผู้สอนทราบถึงความก้าวหน้าหรือสัมฤทธิ์ผลที่เกิดขึ้นภายในตัวผู้เรียนแต่ละคน รวมทั้งทราบถึงความก้าวหน้าหรือสัมฤทธิ์ผลของผู้เรียนเมื่อเปรียบเทียบกันผู้เรียนคนอื่น ๆ ภายในกลุ่ม ทำให้ผู้สอนสามารถปรับแต่ง และออกแบบบทเรียนได้อย่างเหมาะสมในทุก ๆ ขั้นตอน นอกจากนี้ การประเมินผลยังช่วยฝึกทักษะในการประเมินตนเองของผู้เรียนว่าได้บรรลุจุดมุ่งหมายหรือมาตรฐานมากน้อยเพียงใด ทำให้ผู้เรียนสามารถสร้างแรงจูงใจให้เกิดกับตนเอง รวมทั้งสามารถเรียนรู้โดยการนำตนเองได้ (Self-Directed Learning)

Loading