ความรู้ทั่วไป/บทความ
บทความ KM – “บ้านเชียง” ถอดบทเรียนจากรางวัลชนะเลิศท่องเที่ยวชุมชนเมืองรอง พ.ศ.2561

บทความ KM – “บ้านเชียง” ถอดบทเรียนจากรางวัลชนะเลิศท่องเที่ยวชุมชนเมืองรอง พ.ศ.2561

บทความโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์อรรถการ สัตยพาณิชย์

เมื่อพูดถึงชื่อ “บ้านเชียง” เชื่อว่าความรู้ทางประวัติศาสตร์ สมัยประถม มัธยม ผุดขึ้นมาในความทรงจำของใครหลาย ๆ คน ในฐานะที่บ้านเชียงเป็นแหล่งอารยธรรมก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอายุมากกว่า 5,600 ปี

ชุมชนบ้านเชียง ตั้งอยู่ที่ ต.บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีทุนตั้งต้นจากการเป็นแหล่งอารยธรรมเก่าที่สามารถดึงดูดความสนใจให้นักท่องเที่ยวได้ไปเยือน ส่วนต้นทุนที่สองก็คือ ดินแดนแห่งนี้เมื่อ 200 กว่าปีที่ผ่านมา มีกลุ่มคนที่อพยพจากเมืองพวนของลาวได้ข้ามแม่น้ำโขงมาลงหลักปักฐาน ตั้งแต่ พ.ศ.2360 นับเป็นทรัพยากรการท่องเที่ยวอีกอย่างหนึ่งที่นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้วัฒนธรรมของพี่น้องชาติพันธุ์ชาวไทพวน ที่ปัจจุบันมีการผสมผสานเข้ากับวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ของพี่น้องชาวภาคอีสานได้อย่างลงตัว

เมื่อ พ.ศ.2561 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ได้คัดเลือก 10 ชุมชนในเมืองรองทั่วประเทศมาประกวดประชันกัน ผมได้มีโอกาสไปเป็นกรรมการทั้งหมด 5 ชุมชน ประกอบด้วย 3 ชุมชนใน จ.น่าน ได้แก่ ชุมชนบ่อสวก ชุมชนน้ำเกี๋ยน และชุมชนบ้านเก็ต  อีก 1 ชุมชนอยู่ที่ อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ ชื่อชุมชนบ้านสนวนนอก และอีก 1 ชุมชนก็คือ ชุมชนบ้านเชียง

แม้ความสำเร็จในการจัดการการท่องเที่ยวชุมชนของพี่น้องชาวบ้านเชียงจะเริ่มต้นมาจากการมีทรัพยากรทางการท่องเที่ยวที่มีความพร้อม แต่ปัจจัยที่ทำให้ชุมชนแห่งนี้คว้ารางวัลชนะเลิศการท่องเที่ยวชุมชนเมืองรอง พ.ศ.2561 จาก ททท. ไปครองก็คือ “ความสามารถของผู้นำชุมชน” ในการกำหนดทิศทางการท่องเที่ยวชุมชนได้ด้วยตัวเอง และเป็นตัวของตัวเอง

ที่ผ่านมาการพัฒนาชุมชนระดับฐานรากในบ้านเรา หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมักจะเข้าไปบริหารจัดการ กำหนดทิศทางเพื่อตอบสนองนโยบายของหน่วยงานตนเอง ถ้าผู้นำชุมชนไม่เป็นตัวของตัวเอง  หรือหมู่มวลสมาชิกในชุมชนไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทาง หรือทิศทางการพัฒนาชุมชนของตัวเอง โอกาสที่การพัฒนาชุมชนจะมีความยั่งยืน หรือวัฒนาถาวรในระยะยาวก็ยากที่จะเกิดขึ้นจริง

จะพบว่าหลายชุมชนที่รับความช่วยเหลือจากทุกหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง แม้จะมีความเจริญก้าวหน้า มีการพัฒนาในด้านต่าง ๆ แต่ถ้าบรรดาผู้นำชุมชนไม่ตกตะกอนทางความคิด ถึงทิศทางการพัฒนาชุมชนของตนเอง ไม่มีวิญญาณกบฏ ไม่มีข้อโต้แย้งถึงทิศทางการพัฒนาหรือการเข้ามาช่วยเหลือชุมชนกับหน่วยงานภาครัฐบ้างเลย โอกาสที่นโยบายของแต่ละหน่วยงานที่ลงมาพัฒนาในชุมชน ก็มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้ภาพรวมในการพัฒนาของชุมชนดูจะไม่กลมกลืน หรือเป็นเนื้อเดียวกันกับเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ หรือความสามารถที่เป็นจุดแข็งของคนในชุมชนจริง ๆ

ต้องบอกว่าบ้านเชียงมีผู้นำชุมชนที่มีความเข้มแข็ง และเป็นตัวของตัวเอง อย่าง อาจารย์ชุมพร สุทธิบุญ  รองนายกเทศมนตรีตำบลบ้านเชียง ซึ่งท่านเป็นอาจารย์มาก่อน มีส่วนที่ทำให้การรับนโยบายการพัฒนาชุมชนจากหน่วยงานภาครัฐต่างๆ มาปฏิบัติ จะผ่านการวิเคราะห์วินิจฉัยประโยชน์หรือสิ่งที่ชุมชนจะได้รับเป็นอย่างดี ซึ่งทำให้ทิศทางการพัฒนา โดยเฉพาะการท่องเที่ยวชุมชนของบ้านเชียงจึงมีความชัดเจน

เสน่ห์การท่องเที่ยวชุมชนบ้านเชียงมีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรการท่องเที่ยวได้อย่างกลมกล่อม ทั้งจากการได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก  จากยูเนสโก อันดับที่ 359 เมื่อ พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศไทย อีกทั้งยังมีการนำเอกลักษณ์ความเป็นชาวไทพวน และชาวไทยอีสานมาใช้ ผ่านการกำหนดเส้นทางท่องเที่ยวให้ไปเยี่ยมชมได้อย่างน่าสนใจ

รับชมรายการชุมชนชวนเที่ยว ซีซั่นพิเศษ ตอนเที่ยวชุมชนในเมืองรอง ชุมชนบ้านเชียง

ออกอากาศเมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2561 เวลา 10.30-11.00 น. ช่อง 9 MCOT HD ได้ที่

ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปศึกษาหาความรู้จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง ไปดูแหล่งโบราณคดีหลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน ได้ไปดูหม้อดินเผาเขียนสีลายเชือกทาบ ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านได้นำหม้อดินเผาเขียนสีของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์มาต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาในรูปภาชนะต่างๆ ตลอดจนทำเป็นสินค้าที่ระลึกทางการท่องเที่ยวเพื่อจำหน่าย

นอกจากนี้ยังได้ไปดูแหล่งผลิตผ้าย้อมคราม ได้มีโอกาสไปขุดดินเพื่อนำมาปั้นเครื่องปั้นดินเผาด้วยตัวเอง และยังมีการคิดอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา อย่างเช่น การคิดเมนูข้าวผัด โดยใช้วัตถุดิบ อย่างขิง ข่า ตะไคร้ ซึ่งมีการปลูกกันในชุมชนมาสร้างสรรค์เป็นเมนูใหม่ๆ นอกเหนือจากนี้ยังมีการจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้มาเยือน มีการฟ้อนรำจากเด็กๆ ในชุมชน

ในมิติการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวชุมชนของบ้านเชียง จะเห็นได้ว่ามีการกระจายรายได้ให้พี่น้องในชุมชนได้ในวงกว้าง ตั้งแต่ เจ้าของโฮมสเตย์ ศูนย์ที่จัดกิจกรรมสาธิตให้เรียนรู้เรื่องการปั้นเครื่องปั้นดินเผา ร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหาร และร้านรวงต่างๆ รวมถึงหมอขวัญที่มาทำพิธี และเด็กน้อยที่มาฟ้อนรำ เรียกได้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนบ้านเชียงไม่น้อยกว่า 2 แสนคนในแต่ละปี สามารถกระจายรายได้ให้แก่ชุมชนได้แทบจะทุกภาคส่วนของคนในชุมชน

ผลการประกวดที่ชุมชนบ้านเชียงได้รับรางวัลชนะเลิศอาจไม่ใช่สาระสำคัญของการเรียนรู้ แต่สิ่งที่เป็นสาระสำคัญก็คือ การหยิบยกบางสิ่งบางอย่างที่เห็นว่าดีไปพัฒนาต่อยอด และถ้าเราเชื่อว่าในโลกใบนี้ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์ก็ต้องนำสิ่งที่เห็นว่ายังไม่ดี หรือยังไม่สมบูรณ์ไปปรับปรุง และแก้ไขการท่องเที่ยวชุมชน หรือการพัฒนาชุมชนของเราให้มีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น

ในขณะเดียวกันก็เป็นโจทย์ที่หน่วยงานการท่องเที่ยวของภาครัฐในทุกภาคส่วนจะต้องขบคิดกันต่อว่าจะเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวระดับชุมชน หมู่บ้าน อำเภอ อย่างไร ถึงจะดึงคนให้มาเที่ยวในระดับตัวเลขที่ไม่น้อยกว่า 2 แสนคนต่อปีเหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับบ้านเชียงมาแล้ว  ซึ่งจำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยวดังกล่าวถือว่ามากพอที่จะหล่อเลี้ยงชุมชนในเชิงเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี

สาระสำคัญของการพัฒนาชุมชนในทุกปริมณฑลที่เกี่ยวข้องดังที่กล่าวไปข้างต้นมีความสำคัญต่อการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาได้มากกว่าต่อการยอมจำนนภายใต้ความเชื่อหรือทัศนคติเชิงลบที่ได้ยินอยู่บ่อยๆ ว่า “ทำอย่างไรก็สู้ที่อื่นไม่ได้หรอก” วิธีคิดแบบนี้ต้องบอกว่าไม่ควรเกิดกับ“ผู้นำหัวใจพัฒนา” และผู้ที่ทำงานให้ชุมชนด้วยใจจริง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *